รักษ์พงไพร สไตล์ Active Learning

ค่ายเยาวชน...รักษ์พงไพร

รักษ์พงไพร สไตล์ Active Learning

January 19, 2019 รักษ์พงไพร สไตล์ Active Learning 0

บ่ายของวันศุกร์ที่น่าจะสุขสำหรับพี่ๆ ครอบครัวรักษ์พงไพรก็เริ่มขึ้น เป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้แบบ active learning เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมในค่ายเยาวชน…รักษ์พงไพรให้น้องๆ ในค่ายได้เรียนรู้อย่างสนุก วันนี้เลยถือโอกาสแบ่งปันความสนุกปนการเรียนรู้ของวันนี้

เริ่มกิจกรรม “เทพารักษ์…รักษาป่า” สำหรับการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรม กิจกรรมคล้ายกับเกมส์อีกาหวงไข่ เพื่อให้ได้สมาชิกกลุ่มละ 6 คน จากนั้นให้ทั้ง 6 คนในกลุ่มนำชื่อจริงของแต่ละคนมาหาความหมาย มาร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราว และปรับเป็นโลโก้ ภายใต้เงื่อนไขของ “นักอนุรักษ์” เห็นบรรยากาศความสนุก การแบ่งปันความคิดกันอย่างออกรสออกชาติ จนไม่น่าเชื่อว่าชื่อ 6 คนจะกลายเป็นชื่อกลุ่มและโลโก้ได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้

ไฮไลท์ของงานอยู่ที่กิจกรรมต่อไป “เสี่ยงแล้วสู้” ภายใต้สถานะการณ์ว่านักท่องเที่ยวหลงป่า หาทางเดินเท้าไม่ได้ จึงต้องสร้างพาหนะให้สมาชิกทุกคนข้ามได้อย่างปลอดภัย โดยมีแค่ไม้ไผ่และเชือกที่จำกัด ทั้งนี้พี่ๆจะต้องออกแบบพาหนะนั้นก่อน แล้วจึงค่อยประกอบผลงาน สุดท้ายต้องตื่นตากับผลงานที่ออกมามีทั้งแพ และสะพานไม้ไผ่ ซึ่ง…มีลอยบ้าง จมบ้างก็สร้างเสียงหัวเราะให้กับทุกคนได้ แต่เมื่อเป้าหมายของกิจกรรมไม่ใช่แค่ผลงาน แต่หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นพี่ๆ จึงผ่านการทดสอบครั้งนี้กันทุกกลุ่ม เพราะหลังกิจกรรมมีการถอดบทเรียนร่วมกัน

พี่อู๊ดพี่ชายคนโตของทีมวิทยากรโยนคำถามว่า “เราเรียนรู้อะไรจากกิจกรรมวันนี้บ้าง” คำตอบจากพี่ๆ ก็พร่างพรูกันออกมาชนิดที่วิทยากรยิ้มแก้มปริกันเลยทีเดียว หนึ่งคำตอบที่น่าสนใจคือคำตอบจากพี่ขององค์การสวนสัตว์ คือ “ผมเชื่อว่าเด็กๆ แต่ละคนจะมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน บางคนเรียนรู้จากการสื่อสาร บางคนเรียนรู้จากการลงมือทำ ฯ ดังนั้นกิจกรรมวันนี้ถ้าเป็นเด็กๆ ผมเชื่อเด็กๆ ทุกคนจะเกิดการเรียนรู้ที่ดี เพราะกิจกรรมถูกออกแบบมาให้มีทั้งการสื่อสาร การวางแผน และการลงมือทำ” นอกจากนั้นยังมีประเด็นอื่นๆ ที่พอสรุปได้ คือ การจัดกิจกรรมรูปแบบนี้จะทำผู้เรียนจะได้พัฒนาทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ

จากการถอดบทเรียนพอสรุปเรื่องของ active learning ได้ว่า “เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และนักเรียนสามารถถอดองค์ความรู้จากการลงมือทำได้” ทั้งนี้นอกจากครูจะทำหน้าที่กำหนดสถานการณ์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แล้วครูยังจะต้องมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน เช่น การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิด และสิ่งสำคัญคือการใช้คำถามเพื่อให้ผู้เรียนได้ร่วมกันถอดองค์ความรู้ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นเป้าหมายของการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

ผ่านจากวันนี้ไปเชื่อว่าพี่ๆ ครอบครัวรักษ์พงไพรทุกคนมีความเข้าใจกับการจัดกิจกรรมที่เราเรียกว่า active learning ขึ้นอีกเยอะ และสามารถไปปรับใช้สำหรับน้องๆ ที่เราจะมาเจอกันค่ายได้ดีแน่นอน

คนเล่าเรื่อง :

สุรวุฒิ เอี่ยวสกุล (ผอ.โจ๊ก)

โรงเรียนบ้านกะหลิม สพป.ภูเก็ต

 

Leave a Reply